วันพุธที่ 31 ตุลาคม พ.ศ. 2555

ฏีกาศึกษา มาตรา 19

ตั้งใจไว้ว่าจะลองหาฏีกาที่เกี่ยวกับมาตรา 19 ที่เกี่ยวกับการบรรลุนิติภาวะ ปรากฎว่าได้ฉบับนี้มา แถมน่าสนใจเพราะมันรวมไปถึงวิธิพิจารณาความอีกด้วย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 623/2519
    โจทก์ที่ 4 เกิดเมื่อ พ.ศ. 2495 เมื่อไม่ปรากฏว่าเกิดวันใด ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 16 บัญญัติให้นับอายุตั้งแต่วันต้นแห่งปีปฏิทินหลวงซึ่งเป็นปีที่เกิด จึงต้องถือว่าโจทก์ที่ 4 เกิดเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2495 เมื่อนับถึงวันเกิดเหตุโจทก์ที่ 4 ยังเป็นผู้เยาว์ จึงมีอำนาจฟ้องเรียกค่าสินไหมทดแทนที่ต้องขาดไร้อุปการะ ขณะฟ้องคดีโจทก์ทั้ง 4 เป็นผู้เยาว์ ก็เป็นเพียงบกพร่องในเรื่องความสามารถ ซึ่งศาลมีอำนาจไต่สวนและแก้ไขให้บริบูรณ์ได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 56 มิใช่ไม่มีอำนาจฟ้อง

เมื่อคดีอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา โจทก์ที่ 4 ผู้เยาว์บรรลุนิติภาวะแล้ว จึงไม่มีเหตุที่ศาลฎีกาจะต้องแก้ไขข้อบกพร่องในเรื่องความสามารถอีก และถือได้ว่าโจทก์ที่ 4 มีอำนาจฟ้องมาแต่ต้น (อ้างฎีกาที่ 1638/2511)

เรื่องอำนาจปกครองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1537 วรรค 2 นั้นเป็นเรื่องหนึ่ง และเรื่องการอุปการะเลี้ยงดูก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ซึ่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1536 ไม่ใช่แต่เพียงบิดาเท่านั้นที่มีหน้าที่อุปการะเลี้ยงดูบุตร มารดาก็มีหน้าที่เช่นเดียวกัน

การขาดไร้อุปการะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 443 วรรค 3 หมายถึงการขาดสิทธิในอันที่จะได้รับการอุปการะ จำเลยที่ 1 ลูกจ้างของจำเลยที่ 2 กระทำละเมิดในทางการที่จ้าง ทำให้มารดาโจทก์ตาย โจทก์ที่ 4 และที่ 5 ขาดไร้อุปการะตามกฎหมาย จึงชอบที่เรียกค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้นจากจำเลยทั้งสองได้โดยไม่ต้องพิจารณาว่า บิดาโจทก์จะได้อุปการะเลี้ยงดูโจทก์อยู่หรือไม่ (อ้างฎีกาที่ 1742/2499)

การจะให้มีการวินิจฉัยปัญหาใดในคดีเรื่องใดโดยที่ประชุมใหญ่ของศาลฎีกา เป็นอำนาจหน้าที่ของประธานศาลฎีกา คู่ความจะร้องขึ้นมาหาได้ไม่

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น