วันศุกร์ที่ 7 สิงหาคม พ.ศ. 2552

เกี่ยวกับการหมั้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8954/2549

การที่ศาลจะวินิจฉัยว่าฝ่ายจำเลยผิดสัญญาหมั้นหรือไม่ จะต้องฟังให้ได้เสียก่อนว่า โจทก์ที่ 2 และจำเลยที่ 2 มีเจตนาที่จะสมรสโดยจดทะเบียนสมรสตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1457 หรือไม่ เพราะการหมั้นตามกฎหมายนั้นต้องมีเจตนาจะสมรสกันตามกฎหมาย มิใช่เมื่อมีการมอบของหมั้นแล้ว ก็มีผลสมบูรณ์ตามมาตรา 1437

ฝ่ายโจทก์และฝ่ายจำเลยทำพิธีหมั้นตามประเพณี โดยไม่มีเจตนาที่จะจดทะเบียนสมรสต่อกัน ทรัพย์สินที่ฝ่ายจำเลยมอบให้ฝ่ายโจทก์จึงไม่ใช่ของหมั้น เพราะไม่ใช่ทรัพย์สินที่ฝ่ายจำเลยมอบให้ฝ่ายโจทก์เพื่อเป็นหลักฐานการหมั้น และประกันว่าจะสมรส ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1437 วรรคหนึ่ง ดังนั้น เงินสดจำนวน 1,444,000 บาท และทองคำรูปพรรณที่จำเลยที่ 1 นำไปมอบให้แก่ฝ่ายโจทก์จึงไม่ใช่ของหมั้น โจทก์ทั้งสองจึงไม่อาจฟ้องเรียกคืนฐานผิดสัญญาหมั้นได้

ฝ่ายโจทก์และฝ่ายจำเลยมีข้อตกลงกันว่าโจทก์ทั้งสองจะคืนเงินสดและทองรูปพรรณที่ใช้ในพิธีหมั้นให้จำเลยที่ 1 ในวันแต่งงาน ดังนั้น เงินสดและทองรูปพรรณดังกล่าวจึงไม่ใช่ทรัพย์สินที่จำเลยที่ 1 ให้แก่โจทก์ที่ 2 แต่เป็นที่เข้าใจตรงกันทั้งสองฝ่ายว่าเป็นทรัพย์สินที่นำมาแสดงในวันหมั้นเพื่อให้เหมาะสมกับฐานะทั้งสองฝ่ายเท่านั้น กรรมสิทธิ์ในเงินสดและทองคำรูปพรรณดังกล่าวจึงไม่ตกเป็นของโจทก์ที่ 2 การที่โจทก์ที่ 2 นำไปให้จำเลยที่ 1 ในวันแต่งงานจึงเป็นการส่งคืนทรัพย์ของจำเลยที่ 1 ตามข้อตกลง มิใช่การฝากทรัพย์ โจทก์ทั้งสองจึงไม่มีสิทธิเรียกคืน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น